คำนำ : (ดะลาอิลุ้ลนุบูวะฮฺ อัลมุคตาเราะฮฺ) สัจจพยากรณ์ที่ได้รับการคัดสรรจากวจนะของท่านศาสนทูต

รวบรวมโดย  อบุ้ล วัสมียฺ อะลี อะหฺหมัด อบูบักร อัซซิยามีย

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่เอกองค์พระผู้เป็นเจ้าและการประสาทพร
และความศานติจงมีแด่ท่านศาสนฑูตมุฮัมหมัด และวงศ์วานของพระองค์

ส่วนหนึ่งจากบรรดาหลักฐานที่ชี้ชัดถึงความเป็นศาสดาประกาศกและการเป็นศาสนทูตแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านศาสนฑูต นั้นคือการแจ้งข่าวพยากรณ์อันเป็นสัจจะของท่านต่อเหตุการณ์ในกาลข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นตามนั้นหลังจากท่านได้สิ้นชีพหรือยังคงมีชีวิตอยู่ก็ตาม หลักฐานที่ท่านได้ทรงพยากรณ์เอาไว้ตามคำวิวรณ์ (อัลวะฮียฺ) จากเอกองค์พระผู้เป็นเจ้านี้เรียกในภาษาอาหรับว่า ดะลาอิลุ้ลนุบุวะหฺ (ประมวลหลักฐานแห่งความเป็นศาสนทูตผู้ได้รับการแต่งตั้งจากองค์พระผู้เป็นเจ้า)

คำพยากรณ์อันเป็นสัจจะเหล่านั้นโดยมากจะถูกบันทึกไว้ในตำรับตำราทางวิชาการอัลหะดีษ (ศาสโนวาท) มีทั้งในระดับที่มีคุณสมบัติการถ่ายทอดรายงานที่ถูกต้องตามกระบวนการพิจารณาของเหล่าปวงปราชญ์ผู้สันทัดกรณี บ้างก็อยู่ในระดับมาตรฐานที่อ้างอิงได้เรียกว่าเป็นสายรายงานที่ดีหรือใช้ได้

บ้างก็อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานในการรับพิจารณาเป็นหลักฐาน เรียกว่า อ่อนคุณสมบัติ อย่างไรก็ตามคำพยากรณ์ในระดับมาตรฐานในการรับพิจารณาได้นั้นก็มีเป็นอันมาก และเพียงพอสำหรับการรวบรวมขึ้นอย่างเป็นเอกเทศเฉพาะเรื่อง เหตุนี้ผู้เขียนจึงพยายามคัดสรรเรื่องราวพยากรณ์อันเป็นสัจจะที่อยู่ในระดับมาตรฐานที่นักวิชาการผู้สันทัดกรณีได้วางเอาไว้

อนึ่ง เกี่ยวกับกรณีเรียกวจนะของท่านศาสนฑูตที่มีรายงานมาถึงเหตุการณ์ในอนาคตว่า “สัจจพยากรณ์” ก็เนื่องจากสอบเทียบนัยยะข้อบ่งชี้ถ้อยความแล้วว่ามีความเหมาะสมไม่ได้ขัดต่อหลักการข้อใดทางศาสนา คำว่า สัจ , สัจ- , สัจจะ (อ่านว่า สัด , สัจจะ-) เป็นนาม หมายถึง สัตย์และคำว่า “สัตย์” ก็มีความหมายว่า คุณลักษณะที่ประกอบความด้วยความจริง ความแน่แท้ ความซื่อตรงไม่กลับเป็นอย่างอื่น หรือถ้าเป็นคำวิเศษณ์ก็มีความหมายว่า จริงแท้แน่นอน ซื่อตรงดี

ส่วนคำว่า “พยากรณ์” (อ่านว่า พะ-ยา-กอน) มีสองนัย หนึ่งเป็นคำกริยา หมายถึง ทำนาย คาดการณ์ และอีกหนึ่งเป็นคำนามหมายถึงคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทำนาย ความหมายตามนัยที่สองนี้ตัดทิ้งไปได้เลยเพราะเรามิได้เจตนาจะแต่งตำราหรือคัมภีร์ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ หากแต่รวบรวมวจนะของพระท่านศาสนฑูตเกี่ยวกับเรื่องเอกเทศเป็นการเฉพาะ นั่นคือเรื่อง พยากรณ์ ที่หมายถึง ทำนาย และคำว่าทำนายที่เป็นคำกริยานี้ ก็มิได้มีความหมายอย่างที่บางคนเข้าใจ เพราะคำว่า ทำนาย หมายถึง บอกเหตุการณ์หรือความเป็นไปที่จะเกิดในเบื้องหน้า

ฉะนั้นคำว่าพยากรณ์ที่มีความหมายว่าทำนาย คือบอกเหตุการณ์หรือความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้า ก็มิได้มีนัยยะขัดแย้งอันใดกับหลักการของศาสนาเพราะเรื่องราวที่ถูกรวบรวมขึ้นนี้ล้วนแต่เป็นการบอกเหตุการณ์หรือความเป็นไปในอนาคตทั้งสิ้น และยิ่งมีคำวิเศษณ์ คือคำว่า สัจจะ  มาขยายความกริยา รวมเรียกว่า “สัจจพยากรณ์” อันหมายถึงการบอกเหตุการณ์หรือความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้าที่เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน อันมีรายงานถ่ายทอดมาจากท่านศาสนฑูต ซึ่งเป็นวิวรณ์ (อัลวะฮฺยุ) ในรูปแบบหนึ่งก็ย่อมไม่ขัดต่อหลักการของศาสนาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นความหมายนัยยะบ่งชี้ของถ้อยคำหรือหลักศรัทธา

ถึงกระนั้นก็อาจจะมีบางคนเกิดข้อกังขาขึ้นอีกว่า ทำไมผู้เขียนจึงไม่ใช้คำทับศัพท์ที่เป็นภาษาอาหรับไปเลยเสียทีเดียว ข้อนี้ผู้เขียนใช้แน่ คือคำว่า ดะลาอิลุ้ลนุบูวะหฺ แต่ก็มิวายต้องแปล ต้องให้ความหมายเป็นภาษาไทยที่มีรากศัพท์เป็นอันมากจากภาษาบาลีสันสกฤตอยู่ดี เกี่ยวกับเรื่องการแปล การให้ความหมายในแต่ละภาษานั้น ก็จำต้องอ้างอิงและอาศัยผู้ชำนาญการในภาษานั้นๆ ซึ่งผู้เขียนก็ได้อาศัยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นมาตรฐานจึงขอทำความเข้าใจเพื่อมิให้เกิดความคลาดเคลื่อน และนำเอาชื่อหนังสือเล่มนี้มาวิจารณ์โดยรู้เท่ามิถึงการณ์

ขอเอกองค์พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) ได้ทรงดลบันดาลให้พวกเราทุกคนดำเนินตามวิถีทางอันเที่ยงตรง
ที่พระองค์ได้ทรงประทานเอาไว้ถ้วนทุกคนเทอญ

ด้วยจิตคารวะ

อบุ้ล วัสมียฺ อะลี อะหฺหมัด อบูบักร อัซซิยามียฺ

รอบีอุซซานีย์ ฮ.ศ. 1422