มวลการสรรเสริญและการสดุดีอันพิสุทธิ์ทรงสิทธิแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ การประสาทพรและความศานติจงมีแด่ท่านศาสนทูตผู้เผยแผ่สาส์นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติลุล่วงแล้วในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และเหล่าวงศ์วานของท่านตลอดจนเหล่าสาวกผู้สืบสานพระจริยวัตรอันงดงามของท่านตราบจนวันแห่งการพิพากษา  

        “อัลอุษมานียูน” หมายถึงพงศ์พันธุ์ของอุษมาน ข่านที่ 1 ผู้เป็นปฐมซุลตอนแห่งจักรวรรดิ อุษมานียะห์ (ออตโตมาน เติร์ก) จักรวรรดิอุษมานียะห์อันเกรียงไกรได้ก่อเกิดขึ้นในคาบสมุทรอนาโตเลียของ ตุรกีบนความล่มสลายของอาณาจักรซัลญูกียะห์ (เซลจูก เติร์ก) ในปีค.ศ. 1281 แล้วเริ่มเติบโตขึ้นเป็นลำดับจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกตลอดช่วงระยะเวลา มากกว่า 6 ศตวรรษ

 

จักรวรรดิอุษมานียะห์มีชนชาติตุรกี (เติร์ก) เป็นมหาชนหลักในการแผ่แสนยานุภาพ จนมีอำนาจที่เหล่าปัจจามิตรครั่นคร้ามและยอมสวามิภักดิ์ให้ครอบคลุมคาบสมุทร บอลข่านในยุโรปตะวันออก ดินแดนของชนชาติอาหรับทั้งในเอเซียและแอฟริกาเหนือ  พลังศรัทธาและจิตวิญญาณแห่งอิสลามได้ขับเคลื่อนชนชาติตุรกีภายใต้ระบอบการปกครอง แบบคิลาฟะฮฺสู่การสร้างวีรกรรมจนนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อปกป้องเกียติภูมิแห่งอิสลามประวัติศาสตร์ได้จารึกและขับขานเรื่องราวอันเป็น “วีรกรรม” ของพงศ์พันธุ์อุษมานเอาไว้ในเกือบทุกแง่มุมอย่างละเอียดละออ แต่กระนั้นก็ยังคงมีแง่มุมบางส่วนที่มักจะละเอาไว้ที่จะกล่าวถึง หากแม้ว่าจะกล่าวถึงหรือบันทึกเอาไว้ก็จะเป็นไปแบบหยาบๆ และเจือจางเต็มที เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายอายุขัยของจักรวรรดิซึ่งได้รับฉายานามว่า “คนไข้แห่งยุโรป” และการยืนหยัดต่อสู้ของ ซุลตอน อับดุลฮะมีด ข่านที่ 2 (ดำรงตำแหน่ง ค่อลีฟะห์ เมื่อปี ค.ศ. 1876 – ค.ศ. 1909 ) ผู้เป็นซุลตอนและค่อลีฟะห์ท่านสุดท้ายที่ต่อสู้อย่างหนักแน่นมั่นคงในช่วงธำรงไว้ซึ่งระบอบคิลาฟะห์แห่งอิสลามเบื้องหน้าการรบเร้าและแผนการทำลายล้างระบอบคิลาฟะห์ของเหล่าปัจจามิตร ถึงแม้พระองค์จะมิใช่ซุลตอนและค่อลีฟะห์ลำดับสุดท้ายในทำเนียบก็ตามที

 

        แต่การสิ้นพระราชอำนาจด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่งประมุขสูงสุดของโลกอิสลามก็ย่อมถือได้ว่า นั่นคือการสิ้นสุดของระบอบคิลาฟะห์นั่นเอง หนังสือเล่มนี้ถูกถอดความและเรียบเรียงจากหนังสือต้นฉบับภาษาอาหรับที่ชื่อ “การล่มสลายของจักรวรรดิอุษมานียะห์และผลพวงต่อการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม” เขียนโดย มัจดีย์ อับดุลมะญีด อัซซอฟูรีย์ นักวิชาการอียิปต์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ฮ.ศ. 1410/ ค.ศ. 1990

        ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ (ต้นฉบับ) คือการประมวลถึงห้วงเวลาหนึ่งจากประวัติศาสตร์อิสลาม และประชาคมมุสลิมซึ่งถูกลืมเลือน และเหล่าศัตรูของอิสลามพยายามจะบิดเบือนข้อเท็จจริงในห้วงเวลานั้น ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิชาการอียิปต์ได้พยายามรวบรวมปัจจัยและเหตุแห่งความเสื่อมของจักรวรรดิ อุษมานียะห์ ตลอดจนตีแผ่และเปิดโปงแผนการทำลายล้างระบอบคิลาฟะห์ของฝ่ายปัจจามิตรอิสลาม ซึ่งเป็นไปอย่างรัดกุม แนบเนียน และรอจังหวะเข้ากระทำเมื่อสบโอกาส

        ผู้เรียบเรียงได้ถอดความจากหนังสือต้นฉบับภาษาอาหรับเฉพาะเพียงบางส่วน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวถึงปัจจัยทั้งภายนอกอันเกิด จากน้ำมือของศัตรูอิสลาม และปัจจัยภายในอันเกิดจากความอ่อนแอของประชาคมมุสลิมเอง ซึ่งในท้ายที่สุดได้นำพาให้รัฐ… อุษมานียะห์ และระบอบคิลาฟะห์อัปปางลงอย่างไม่มีวันกู้คืนได้อีกเลย หากประชาคมมุสลิมยังคงจมปลักอยู่ในก้นบึ้งแห่งความหลับไหล และไม่รับรู้ถึงเกียติภูมิแห่งระบอบคิลาฟะห์ ซึ่งเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำเอาความรุ่งโรจน์กลับคืนมาอีกครา

 

        อนึ่งคำว่า “จักรวรรดิ” ซึ่ง ผู้เรียบเรียงขออนุโลมใช้เรียก รัฐอุษมานียะห์นั้น มุ่งหมายถึง รัฐหรือสหภาพของรัฐต่างๆ ที่มีจักรพรรดิ (ซุลตอน) เป็นประมุขสุงสุด หรือหมายถึง อาณาเขตหรืออาณาจักรที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยการปกครองอันเดียวกัน กล่าวคือ การปกครองในระบอบคิลาฟะห์แบบอิสลาม ซึ่งมีนัยยะแตกต่างจากคำว่า จักรวรรดินิยม (imperialism) ส่วนคำว่า จักรพรรดิ อันหมายถึง พระราชาธิราช , ประมุขของจักรวรรดิ นั้น ผู้เรียบเรียงอนุโลมใช้คำว่า ซุลตอน (sultan) ซึ่งมีนัยยะในการทำนอง (supreme ruler) อย่างรัฐศาสตร์อิสลามเท่านั้น

        ผู้เรียบเรียงหวังว่าหนังสือ “จักรวรรดิ อุษมานียะห์ (ออตโตมาน เติร์ก) เมื่ออาทิตย์อัสดง” คงช่วยเปิดโลกทัศน์แก่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามและผู้ใฝ่รู้ทุกผู้ทุกนาม

 

วัลลอฮฺวะลี่ยุตเตาฟิก
อบูอัรรีม อะลี อะหฺหมัด เสือสมิง