“ออแฤ นนายู บาเกาะ” คนมลายูบางกอก

“เมืองบางกอก” นับแต่ครั้งอดีตมีประชาคมมลายูอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว สามารถนับย้อนขึ้นไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากเมืองบางกอกเป็นเมืองหน้าด่านที่กองเรือสินค้าซึ่งจะล่องขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาจะต้องแวะจอดเพื่อแจ้งให้เจ้าพนักงานฝ่ายกรมท่ารับรู้ถึงการเข้าออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าเมืองบางกอกก็เคยมีขุนนางมุสลิมเชื้อสายเติร์กกินตำแหน่งเจ้าเมืองมาแล้วเช่นกัน และในรัชสมัยเดียวกัน มีการสร้างป้อมวิไชเยนทร์ขึ้นที่เมืองบางกอกและกำหนดให้มีกองทหารอาสาต่างชาติทั้งโปรตุเกส ฝรั่งเศส และพวกมัวร์ซึ่งหมายถึงประชาคมมุสลิมที่มีทั้งพวกมุสลิมเชื้อสายอินโด-อารยัน (อินเดีย-เปอร์เซีย) และพวกจาม-มลายูเข้าประจำการที่ป้อมดังกล่าว

 

ทั้งนี้บริเวณใกล้กับปากคลองบางกอกใหญ่มีชุมชนมุสลิมตั้งนิวาสถานอยู่ มีศาสนสถานที่เก่าแก่ซึ่งถูกสร้างมานับแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลายเรียกกันว่า กุฎีใหญ่ หรือ กุฎีต้นสน ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่กองทัพพม่าข้าศึกในปี พ.ศ.2310 คลองบางกอกใหญ่ได้กลายเป็นแหล่งหลบหนีภัยสงครามของบรรดาชาวมุสลิมที่ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาทั้งในเขตกำแพงพระนคร และนอกเขตกำแพงพระนครมีการล่องแพซึ่งเป็นบ้านลอยน้ำลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและเสาะหาทำเลเพื่อจอดแพในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายเดิม อันได้แก่คลองบางกอกน้อย (ซึ่งเป็นลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่กลายเป็นคลองขนาดใหญ่ภายหลังมีการขุดคลองลัดแม่น้ำในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช)

 

คลองบางกอกใหญ่ซึ่งต่อมาเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าคลองบางหลวง เพราะเป็นนิวาสถานของบรรดาข้าหลวงเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และรัชสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เนื่องจากประชาคมมุสลิมดังกล่าวอาศัยอยู่ในเรือนแพที่จอดอยู่ริมฝั่งคลองจึงเรียกประชาคมมุสลิมเหล่านี้ว่า “แขกแพ” นอกจากนี้ชาวมุสลิมที่อพยพลี้ภัยสงครามยังได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในชุมชนเก่าแก่ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน เช่น ผ่านตลาดแก้ว และ ตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี ตลอดจนย่านพระประแดง แขวงเมืองสมุทรปราการ

 

ซึ่งต่อมาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการตั้งเมืองขึ้นใหม่เรียกว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ชาวมุสลิมบางส่วนได้ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณคลองบางลำภูซึ่งเป็นย่านเก่า และบางส่วนได้ย้อนกลับไปยังพระนครศรีอยุธยาอันเป็นชุมชนเดิมภายหลังสิ้นสุดสงคราม เช่น ที่ตำบลคลองตะเคียน ตำบลลุมพลี เป็นต้น ประชาคมมุสลิมที่กล่าวถึงนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู จาม และมักกะสัน นอกจากนั้นก็เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายอินโด-อารยันที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ยืนยันว่า ประชาคมมลายูมุสลิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดิมที่มีหลักแหล่งอาศัยอยู่ในเมืองบางกอกและหัวเมืองที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เช่น เมืองนนทบุรี เมืองพระสมุทรปราการ (พระประแดง) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมเขตของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ซึ่งต่อมาคือ กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร อันหมายถึงเมืองบางกอกเดิมนั่นเอง

 

ดังนั้นคำเรียกขานประชาคมมุสลิมมลายูเดิมที่มีนิวาสถานอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับแต่พระนครศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปากน้ำที่เมืองบางกอกหรือเมืองพระสมุทรปราการก่อนปี พ.ศ. 2329 อันเป็นปีที่มีการทำสงครามกับหัวเมืองมลายูทางภาคใต้ ที่ถูกต้องน่าจะถูกเรียกขานว่า “ออแฤ นนายู ตุวอ” คือคนมลายูเก่าที่มิได้มุ่งหมายเฉพาะคนมลายูปัตตานีเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงคนมลายูเดิมที่ตั้งหลักแหล่งในอาณาบริเวณของภาคกลางแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบางส่วนเป็นชาวมลายูที่เข้ามาค้าขายและตั้งชุมชนอยู่บริเวณปากคลองตะเคียน คลองปะทาคูจามหรือริมกำแพงพระนครทั้งภายในและภายนอกกำแพงพระนคร

 

เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้มีทั้งที่มาจากปัตตานีดารุสสลามและหัวเมืองมลายูอื่นๆ ชาวมลายูจากทางภาคใต้ตอนบน ชาวมลายูจากเมืองสิงขรนคร (นครสงขลา) ชาวมลายู-จามที่ปรากฏหลักฐานว่าเข้ามาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา ชาวมลายู-ชวาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย เช่น พวกมักกะสัน เป็นต้น และชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้มีมาก่อนการกวาดต้อนเทครัวชาวมลายูจากหัวเมืองมลายูเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

ดังนั้นการเรียกขานประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มีมาแต่เดิมๆ ว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” โดยข้อเท็จจริงแล้วหมายถึง คนมลายูที่อยู่เมืองบางกอกแต่เดิมเท่านั้น แต่จะหมายรวมถึงคนมลายูที่อยู่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยนั้นคงไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นมลายูอยุธยาเดิมและชาวมลายูเหล่านี้ก็ไม่ได้อาศัยอยู่ที่เมืองบางกอกเพียงแห่งเดียว

 

ดังนั้นคำเรียกขานว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” จึงน่าจะมีนัยที่ชัดเจนภายหลังการกวาดต้อนประชาคมมลายูจากปัตตานีดารุสสลามและหัวเมืองมลายูอื่น เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์มานี่เอง โดยมีนัยแบ่งแยกชาวมลายูที่เป็ยเชลยศึกกับชาวมลายูที่ยังอยู่ในหัวเมืองมลายูเดิม เรียกชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกเอามาไว้ที่เมืองบางกอก (กรุงเทพ-ธนบุรี) ว่า : “ออแฤ นนายู บาเกาะ” และเรียกชาวมลายูที่ยังคงอยู่ในเขตหัวเมืองมลายูเดิมว่า “ออแฤ นนายู ตานิง”

 

การเรียกขานประชาคมมุสลิมเดิมนี้ว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” จึงใช้ได้เฉพาะชาวมลายูเดิมที่อยู่ ณ เมืองบางกอกนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และชาวมลายูจากหัวเมืองมลายูในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น จะเหมารวมประชาคมมลายูเดิมที่ไม่ได้อยู่ในเมืองบางกอกด้วยก็คงไม่ได้ เพราะชาวมลายูเดิม หรือ “ออแฤ นนายู ตุวอ” ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองอื่นๆ มาก่อนแล้วนั่นเอง  ฉนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หากเราเข้าใจว่า ชาวมลายูในภาคกลางทุกวันนี้เป็นลูกหลานของเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูทั้งสิ้น

 

เพราะจริงๆ แล้วชาวมลายูที่เป็นบรรพบุรุษของมลายูมุสลิมในภาคกลางส่วนหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งเป็นชาวมลายูเดิมที่มีสถานะเป็นไพร่หรือสามัญชนในกรุงศรีอยุธยา ชาวมลายูบางส่วนที่เคยเป็นทาสหรือเชลยศึกเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นก็หมดสภาพความเป็นทาสหรือเชลยศึกไปแล้วภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 เนื่องจากระบบะชนชั้นที่มีอำนาจของราชสำนักอยุธยาเกื้อหนุนได้ถูกทำลายไปพร้อมกับสิ้นอำนาจวาสนาของชนชั้นผู้ปกครองเดิม สภาพบ้านเมืองหลังกรุงแตก พลเมืองแตกกระซ่านกระเซ็น

 

ครั้นเมื่ออำนาจใหม่ถูกสถาปนาขึ้น คนที่เคยเป็นทาสเป็นเชลยศึกแต่ครั้งก่อนก็คงเปลี่ยนสถานะและถูกกลืนไปในระบบไพร่ของแผ่นดินใหม่แล้ว บุคคลที่จะมีสถานะเป็นทาสหรือเชลยศึกก็คือผู้ที่เสียบ้านเสียเมือง และถูกกวาดต้อนเทครัวเข้ามาใหม่เมื่อเกิดสงครามระหว่างแผ่นดินใหม่กับหัวเมืองประเทศราชเดิม ดังนั้น คนมลายูเดิมที่สืบเชื้อสายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจึงมิใช่ทาสหรือเชลยศึกอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า พวกแขกปัตตานี (มุสลิมมลายูปัตตานี) ย่านตลาดน้ำวนบางกะจะส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและช่างฝีมือ แขกมลายูนิยมทำเชือกผูกเรือและตีสมอขายให้กับกัปตันชาวต่างชาติ

 

นอกจากนี้ยังมีพวกแขกตานีซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดลอดช่องมีอาชีพทอผ้าไหม ผ้าด้าย ซึ่งใช้เป็นผ้าพื้นและผ้าม่วงลายดอกไว้สำหรับขาย (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง , หน้า 7 , หน้า 15)

 

จากหลักฐาของชาวต่างชาติในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุว่า มุสลิมเชื้อสายมลายูมีจำนวนมากราว 3,000-4,000 คน พอๆ กับพวกมัวร์และชาวจีน (ลาลูแบร์ , ราชอาณาจักรสยาม เล่ม 1 , แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ก้าวหน้า , 2510) หน้า 501)

 

ส่วนในบันทึกของนิโกลาส แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ระบุว่าพวกมลายูในสยามมีจำนวนมากกว่ามุสลิมกลุ่มอื่น (Nicolas Gervaise , The Natural and Political History of the Kingdom of Siam , tr.Jhon Villiers. (Bangkok : White Lotus , 1989) p.58)

 

ดังนั้นชาวมุสลิมมลายูเดิมในกรุงศรีอยุธยา จึงมีทั้งที่ประกอบอาชีพค้าขาย เดินเรือ ช่างฝีมือ ชาวนา และรับราชการ (ดร.จุพิศพงศ์ จุฬารัตน์ ; ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา หน้า 6 จัดพิมพ์โดยชมรมมุสลิมรักษ์ธนบุรี) ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นทาสตามที่ปรากฏในบันทึกของ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า ชาวมลายูในสยามส่วนใหญ่เป็นทาส (The Chevalier de Chaumont and the Abbe de Choisy Aspects of the Embassy to Siam 1685 (Chiang Mai , silk worm Books , 1997) p.84)  ซึ่งนั่นเป็นมุมมองที่ชาวต่างชาติบันทึกเอาไว้ตามความเข้าใจและสิ่งที่ตนได้พบเห็นโดยไม่อาจแยกแยะได้เกี่ยวกับระบบชนชั้นของผู้คนในสมัยอยุธยาที่มาตรฐานการดำเนินชีวิตระหว่างทาสกับไพร่แทบจะไม่ได้แตกต่างกัน

 

แต่ความเป็นทาสของชาวมลายูยุคนั้นก็ย่อมหมดไปเมื่อเจ้านายของตนสิ้นบุญวาสนาไปพร้อมกับการเสียกรุงนั่นเอง สิ่งที่เราจำเป็นต้องย้ำอีกครั้งเพื่อมิให้เกิดความคลาดเคลื่อนโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ก็คือ ชาวมลายูมุสลิมในทุกวันนี้กึ่งหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวมลายูมุสลิมเดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา และความเชื่อที่ว่า คนมลายูมุสลิมทุกวันนี้ทั้งในเมืองบางกอกและเขตอื่นล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานชาวมลายูมุสลิมที่เป็นเชลยศึกซึ่งถูกกวาดต้อนเทครัวมาจากหัวเมืองมลายูอันเป็นความเชื่อในลักษณะเหมารวมเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้โดยชัดเจน

 

ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูเดิมได้ถูกกลืนเข้าสู่ระบบไพร่ในสังคมของสยามไปแล้วนับตั้งแต่ยุคสมัยแผ่นดินกรุงธนบุรี จำนวนของประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูเดิมในเวลานั้นอาจจะมีไม่มากเท่ากับเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากผลพวงของสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงย่อมเป็นปัจจัยหลักในการทำให้ประชาคมทุกหมู่เหล่าในสยามเวลานั้นลดน้อยลงเพราะย่อมต้องมีผู้เสียชีวิตในช่วงสงครามเป็นธรรมดาที่ถูกกวาดต้อนเทครัวไปเมืองพม่าข้าศึกก็มีเป็นจำนวนมิใช่น้อย ที่พลัดพรายแตกกระซ่านกระเซ็นหนีภัยสงครามไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากสงครามก็คงมีมากเช่นกัน

 

ดังนั้นเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่แล้วการรวบรวมพลเมืองที่กระจัดกระจายไปเพื่อนำเข้ามาสมทบและตั้งชุมชนในพระนครจึงเป็นสิ่งที่จำต้องกระทำ เพราะภัยสงครามที่ข้าศึกพม่ายกมายังคงติดพันอีกหลายระลอก โดยเฉพาะในช่วงแผ่นดินต้น 3 รัชกาลแห่งบรมราชจักรีวงศ์ หลักวิเทโศบายในการแผ่ขยายอาณาเขตของพระราชอาณาจักรสยามด้วยการตีหัวเมืองประเทศราชเดิมที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่าจึงถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณในท้องพระคลัง และการกู้พระราชอำนาจและเสถียรภาพของศูนย์กลางการปกครองกลับคืนมาให้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม สงครามกับหัวเมืองประเทศราชเดิมจึงเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองในเวลาเดียวกัน

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีการอพยพเชลยศึกชาวมลายูปัตตานีภายหลังปัตตานีดารุสสลามพ่ายแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2329 ประมาณ 4,000 คน บางส่วนให้ลงพักอยู่ที่หัวเมืองรายทาง เช่น ที่สุราษฎร์ธานี ที่ตำบลท่าทอง และนครศรีธรรมราช (รัชนี กีรติไพบูลย์ (สาดเปรม) , “บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2453” หนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลาง ฮ.ศ. 1424 หน้า 68)

 

ซึ่งแสดงว่าคนมลายูปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มิใช่ “ออแฤ นนายู บาเกาะ” เพียงอย่างเดียว มี ออแฤ นนายู นคร (ลิกอร์) และ สุราษรฎ์ อีกด้วย แต่เชลยศึกส่วนใหญ่ได้ถูกนำขึ้นมาไว้ที่บางกอก พวกที่เป็นลูกหลานสุลต่านเมืองปัตตานีได้ถูกลงพักเอาไว้หลังวัดอนงคาราม วัดพิชัยญาติ ฝั่งธนบุรี ต่อมาเกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูอีกในปี พ.ศ. 2334 และในปี พ.ศ. 2346 ก็เกิดสงครามกับหัวเมืองไทรบุรี (เคดะห์)

 

ในครานี้เชลยศึกชาวมลายูเป็นพลเมืองนอกจากกลุ่มหัวเมืองปัตตานี คือมิใช่ ออแฤ นนายู ตานิง แต่เป็น ออแฤ นนายู สุโตย (ซินตุ้ล) ผสมเข้ามาในรัชกาลที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2374-2380 ก็เป็นสงครามกับหัวเมืองมลายูครั้งใหญ่ที่มีทั้ง 7 หัวเมืองปัตตานีเดิม ไทรบุรี (เคดะห์) กลันตัน และตรังกานู อีกด้วย จึงคะเนได้ว่านับแต่ปี พ.ศ. 2329- พ.ศ. 2380 นั้นมีประชาคมมลายูถูกกวาดต้อนเทครัวเข้ามาไว้ที่บางกอกและหัวเมืองปริมณฑลนับหมื่นคน

 

การเรียกขานประชาคมมลายูเหล่านี้ด้วยคำว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” จึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนตามนัยนั้นโดยหมายถึงประชาคมมลายูจากหัวเมืองมลายูทั้งหมดที่ไม่เฉพาะชาวมลายูปัตตานีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงชาวมลายูเคดะห์ (ไทรบุรี)  สตูลและบางส่วนของสงขลา เช่น จะนะ เทพา เป็นต้น ถึงแม้ว่าชาวมลายูปัตตานีจะมีจำนวนผู้คนที่ถูกเทครัวมาไว้ที่บางกอกมากที่สุดก็ตาม และการเรียกขานชาวมลายูในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ถูกเทครัวมาไว้ที่บางกอก-ธนบุรี ว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” ก็ต้องมุ่งหมายเฉพาะชาวมลายูใหม่ที่เข้ามายังบางกอกหลังสงครามดังกล่าว ไม่รวมถึง ออแฤ นนายู บาเกาะ ที่อยู่มาแต่เดิมนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีเมืองบางกอกตั้งมาอยู่ก่อนแล้ว และมลายูบางกอกรุ่นเก่านั้นก็มิใช่เชลยศึกหรือทาส แต่เป็นพลเมืองในระบบไพร่สามัญชนของสยามที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่งในภาคกลางของสยามประเทศ

 

การนำเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูขึ้นมาไว้ที่บางกอกมีจุดประสงค์สำคัญคือ ต้องการเพิ่มกำลังพลเมืองเรียกว่า “กวาดคนใส่เมือง” นั่นเอง ซึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์การก่อสร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานียังไม่มั่นคงนักซึ่งศึกสงครามทางข้างพม่ายังมีอยู่ มิหนำซ้ำยังมีศึกทางเมืองเขมรและเมืองลาวอีกด้วย กำลังพลเมืองในเวลานั้นก็มีน้อยไม่พอกับความต้องการในการเกณฑ์ไพร่พลเข้าทำศึก อีกทั้งเสบียงอาหารที่ผลิตจากพลเมืองที่มีน้อยก็ย่อมไม่พอใช้สอยระหว่างออกศึกสงครามแต่ละครั้ง

 

และในการสร้างราชธานีแห่งใหม่ภายหลังย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาสร้างพระบรมมหาราชวัง และการก่อสร้างกำแพงเมืองซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญก็จำต้องอาศัยกำลังคนและแรงงานเป็นจำนวนมาก เหตุนี้เองเชลยศึกจากหัวเมืองลาวจึงถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงพระนคร เชลยศึกจากหัวเมืองเขมรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายจามร่วมกับชาวมลายูชุดเดิมจึงถูกเกณฑ์ให้ขุดคูเมืองหรือคลองรอบกรุง การขุดคลองในช่วงรัชกาลที่ 1 นั้นเป็นการขุดคลองรอบกรุงคือ คลองผดุงกรุงเกษมและคลองมหานาค ส่วนคลองแสนแสบนั้นเพิ่งจะเริ่มขุดเมื่อต้นรัชกาลที่ 3  เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและเส้นทางยุทธศาสตร์ในการลำเลียงกำลังพลเพื่อทำศึกกับเมืองเขมรและญวน ซึ่งเรียกว่า “สงครามอันนัม-สยามยุทธ”

 

ที่สำคัญการยกทัพไปปรามหัวเมืองมลายูหรือหัวเมืองอื่นๆ ย่อมต้องเสียกำลังไพร่พลที่ล้มตายในการทำศึกไม่มากก็น้อย การทำสงครามถึงชนะก็เหมือนกับขาดทุนในส่วนจำนวนผู้คนพลเมืองทุกคราว เมื่อชนะจึงต้องหาคนมาเพิ่มเติมทดแทน เพื่อมิให้กำลังเมืองลดน้อยถอยลง แน่นอนเชลยศึกจากหัวเมืองปัตตานีและมลายูทางภาคใต้ ส่วนหนึ่งได้ถูกจัดเข้าเป็นเชลยบริเวณของวังหน้าซึ่งตั้งชุมชนอยู่บริเวณคลองบางลำภู ใกล้ๆ กับวัดสังเวชฯ และวัดชนะสงคราม

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นเชลยศึกของวังหลวงเป็นช่างฝีมือ ตั้งชุมชนอยู่บริเวณคลองมหานาค อีกส่วนหนึ่งถูกขึ้นสังกัดกับบรรดาเจ้านายชั้นสูง เช่นชุมชนมุสลิมที่เขตบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี นอกจากนี้ยังมีการนำเชลยศึกในระลอกหลังเมื่อรัชกาลที่ 3 มาลงพักที่บ้านครัว เขตทุ่งพญาไทครั้นเมื่อมีการขุดคลองแสนแสบเหนือก็เคลื่อนย้ายเชลยศึกกลุ่มนี้ออกไปไว้ตามเขตชานพระนครตลอด 2 ฝั่งคลองแสนแสบเพื่อให้หักร้างถางพงทำพื้นที่ทางการเกษตรด้วยการปลูกข้าวเพื่อเป็นเสบียงหล่อเลี้ยงพลเมืองในพระนครและกองทัพที่จะใช้คลองแสนแสบเป็นเส้นทางน้ำลำเลียงกำลังพลไปทำศึกกับหัวเมืองเขมรและญวน ซึ่งการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวเป็นอาชีพโดยสายเลือดของชาวมลายูอยู่แล้ว

 

ผลที่ตามมาก็คือมีการแผ่ขยายพื้นที่ทางการเกษตรและการตั้งชุมชนนับแต่ชานพระนครให้กว้างขวางออกไปยังเขตรอบนอกในหัวเมืองใกล้เคียง กอปรกับการกระจายกลุ่มเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูออกไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันมิให้การรวมตัวกันอันจะเกิดปัญหาในด้านความมั่นคงตามมากลับกลายเป็นผลดีในการแผ่ขยายชุมชนใหญ่ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ดังกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายพลเมืองมลายูเอาไปไว้ในจังหวัดนนทบุรีที่ตำบลท่าอิฐ และบางบัวทอง จังหวัดปทุมธานีที่ตำบลคลองหนึ่งและคลองหลวง บางโพธิ์ สวนพริกไทย ตลอดจนจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก เป็นต้น

 

เมื่อสภาพสังคมและการเมืองการปกครองของสยามเปลี่ยนไป พลเมืองมลายูเหล่านี้ก็พ้นสภาพ และสถานะของความเป็นเชลยศึกกลายเป็นพลเมืองของประเทศที่มีสิทธิพลเมืองและเสรีภาพเช่นเดียวกับพลเมืองกลุ่มอื่น ปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายของพลเมืองมลายูมุสลิมก็เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 100 ปีมานี่เองคือการย้ายครอบครัวไปยังถิ่นอื่นเพื่อหาทำเลในการประกอบอาชีพที่ตนถนัด มุสลิมมลายูส่วนหนึ่งขึ้นไปไปไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง อีกส่วนหนึ่งย้ายครอบครัวจากจังหวัดในภาคกลางไปตั้งหลักแหล่งและจับจองที่ดินทำกินในเขตจังหวัดภาคตะวันออกตั้งแต่ชลบุรีจนถึงจังหวัดตราด ในทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทยไม่เว้นแม้แต่จังหวัดในภาคอีสานต่างก็มีชาวมุสลิมมลายูอาศัยอยู่ เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น

 

คนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ถูกเรียกขานว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ”  จึงมิได้มีเฉพาะที่เมืองบางกอกอีกต่อไป แต่ลูกหลานของพวกเขาได้เคลื่อนย้ายแผ่ชุมชนออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทยในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันคนมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เดิมและเข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินและประกอบอาชีพ มีการแต่งงานกับชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นนอกเขต 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นที่จังหวัดสตูล สงขลา กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษรฎ์ธานี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นครนายก อยุธยา สมุทรปราการ ชลบุรี ตราด

 

และที่แน่นอนก็คือ “เมืองบางกอก” หรือ กรุงเทพมหานคร นั่นเอง และอีกไม่เกิน 2 ชั่วอายุคน คนนนายูมุสลิมเหล่านี้ก็จะกลายเป็นประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และพวกเขาก็จะไม่ถูกเรียกขานว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” อีกต่อไป แต่จะต้องเรียกพวกเขาว่า “ออแฤ นนายู ไทย” เพราะพวกเขากระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศนี้ซึ่งคือประเทศไทยนั่นเอง