ความเป็นมาของศาสนาอิสลามในประเทศไทย

ศาสนาอิสลามที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ศาสดาประกาศกท่านสุดท้ายได้รับวิวรณ์ (อัลวะฮฺยุ) จากเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าให้นำมาประกาศแก่มวลมนุษย์ชาติในยุคสุดท้ายก่อนวันโลกาวินาศ มีบ่อเกิด ณ นครมักกะห์ในดินแดนตะวันออกกลางบริเวณคาบสมุทรอาหรับ (ปัจจุบันคือเมืองสำคัญในราชอาณาจักรซาอุดิอาราเบีย)

 

ณ นครมักกะห์แห่งนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ถือกำเนิดโดยกำพร้าบิดา เมื่อปี ค.ศ.๕๗๐ (พ.ศ.๑๑๑๓-๑๑๑๔) และได้เริ่มประกาศศาสนาเมื่ออายุได้ ๔๐ ปี (ค.ศ.๖๑๐) ใช้เวลาในการประกาศศาสนาในนครแห่งนี้ราว ๑๓ ปี ครั้นต่อมาในปี ค.ศ.๖๖๒ ท่านและสาวกที่ศรัทธาได้อพยพเข้าสู่นครมะดีนะห์

 

สถาปนาและแพร่คำสอนอยู่อีกราว ๑๐ ปีด้วยกัน ท่านได้ถึงแก่ชีวิต ณ นครมะดีนะห์ เมื่ออายุได้ ๖๓ ปี (ฮ.ศ.ที่๑๑/ค.ศ.๖๓๒) อนึ่งในปีที่ท่านศาสดาและสาวกได้อพยพสู่นครมะดีนะห์นั้น ถือเป็นปีที่ ๑ แห่งการนับศักราชของชาวมุสลิมเรียกว่า “ฮิจเราะห์ศักราช” (ฮิจเราะห์ หมายถึง การอพยพ) ดังนั้นการนับอายุของศาสนาอิสลามจวบจนบัดนี้ ( พ.ศ. 2553 ) ว่ามีอายุ ๑๔๓2 ปี จึงมิได้หมายรวมถึงอายุของการประกาศศาสนาตั้งแต่แรกเริ่มในนครมักกะห์ หากแต่เริ่มนับศักราชโดยถือเอาเหตุการณ์การอพยพของท่านศาสดาสู่นครมะดีนะห์เป็นสำคัญ

 

สำหรับการแผ่ขยายศาสนาอิสลามสู่ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อุษาคเนย์ ) มีเส้นทางสำคัญ 2 เส้นทาง คือ

1 ) ทางทะเล จากคาบสมุทรอารเบียตอนใต้ผ่านมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่หมู่เกาะสุมาตราและชวาตลอดจนเมืองท่าสำคัญในแหลมมลายู ซึ่งเป็นภาคใต้ของสยามประเทศ

2 ) ทางบก จากดินแดนตะวันออก ของรัฐอิสลาม ซึ่งมีพรมแดนจดประเทศจีนในเมืองคัชฺการ์ แคว้นซินเกียง ตามเส้นทางแพรไหมเดิม เข้าสู่ประเทศจีน และแผ่ขยายสู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแถบมณฑลเสฉวน ยูนนาน กวางสี และกวางตุ้งตามลำดับ ซึ่งดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีนนี้ เชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยและเป็นที่ตั้งของอาณาจักรน่านเจ้า อันเป็นอาณาจักรแรกของคนไทยก่อนการเคลื่อนย้ายลงมายังสุวรรณภูมิ จึงขอกล่าวถึงศาสนาอิสลามในอาณาจักรน่านเจ้าเป็นลำดับแรก