ประวัติศาสตร์กรมอาสาจาม-มลายู อาณาจักรจัมปา (CHAMPA) และชนชาติจาม

จัมปา (CHAMPA) คืออาณาจักรของพวกจามซึ่งเคยตั้งอยู่บนฝั่งทะเลของประเทศเวียดนามปัจจุบัน จากจารึกจามสมัยโบราณทำให้ทราบได้ว่าชนชาติจามเป็นเผ่ามลายู (ศาสตรจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ; ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง, สำนักพิมพ์มติชน (2543), กรุงเทพฯ หน้า 197) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียเช่นเดียวกับชาวชะวาในอินโดนีเซีย (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ; พระพุทธศาสนาในอาเซีย, ธรรมสภา (2540) กรุงเทพฯ หน้า 218)

 

จึงกล่าวได้ว่า ชนชาติจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู-ชะวานั่นเอง เป็นชาวทะเล ชอบเดินเรือค้าขาย ทำการประมงและเป็นโจรสลัด พูดภาษาจามซึ่งเขียนด้วยอักษรอินเดีย แต่ภาษาวรรณคดีใช้สันสกฤต มีวัฒนธรรมคล้ายกับฟูนันซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นกัน (อ้างแล้ว หน้า 218) ตามจดหมายเหตุจีนมีการกล่าวถึงประเทศจัมปาเป็นครั้งแรกในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 9 โดยเรียกว่า อาณาจักรลินยี่ (Lin-yi) และกล่าวด้วยว่าอาณาจักรนี้เกิดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 8 (สุภัรทดิศ ดิศกุล ; อ้างแล้ว หน้า 197)

 

ชนชาติจามนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย โดยมีลัทธิไวษณพนิกายเข้ามาปะปนบ้าง และนับถือพุทธศาสนา ลัทธิมหายานแต่เพียงครั้งเดียวคือในสมัยดงเดือง ราว พ.ศ. 1450 (อ้างแล้ว หน้า 199)

 

อาณาจักรจัมปาประกอบด้วยแคว้นสำคัญ 4 แคว้น คือ อมราวดี (ตามชื่อแคว้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย) มีเมือง ตราเกียว (Tra-kieu) มิเซ็น (Mi-son) และดงเดือง (Dongduong) ในแคว้น กวังนัม (Quang Nam) ทางฝั่งทะเลภาคใต้ตอนกลางของประเทศเวียดนามในปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญในสมัยโบราณ แคว้นวิชัย (Binh Dinh) แคว้นเกาฐระ (Nha trang) และแคว้นปัณฑุรังคะ (Phan Rang) แคว้นเกาฐระและปัณฑุรังคะเคยเป็นดินแดนของฟูนันมาก่อน และกลายมาเป็นของจัมปา เมื่อครั้งอาณาจักรฟูนันเสียแก่เจนละ (กัมพูชา) ในราว พ.ศ. 1100 (พระธรรมปิฎก ; อ้างแล้ว หน้า 218)

 

อาณาจักรจัมปามีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับจีนอยู่เนืองๆ และมักยกทัพไปตีเมืองชายแดนของจีน (หมายถึง อานัม ซึ่งเวลานั้นอยู่ในครอบครองของจีน) เป็นเหตุให้จีนยกทัพมาตีเมืองหลวงซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองเว้ปัจจุบันเป็นคราวใหญ่ถึง 2 ครั้งในพ.ศ. 989 และ 1048

 

เมื่อราชวงศ์ถังขึ้นปกครองแผ่นดินจีนใน พ.ศ. 1611 จัมปาก็หันมาใช้นโยบายผูกมิตรแสดงความยอมรับอำนาจของจีน ทำให้เกิดช่วงระยะเวลาแห่งความสงบและการสร้างสรรค์ มีผลงานทางด้านศิลปและสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในรัชกาลพระเจ้าวิกรันตวรมัน (พ.ศ. 1196- ราวพ.ศ. 1228)

 

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 1301 ถึง 1402 ราชวงศ์ใหม่ของจัมปาได้ย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรออกจากอมราวดี (กวังนาม) ลงไปตั้งที่ ปัณฑุรังคะ (พันรัง) และเกาฐระ (นาตรัง) ในเวลานั้นจีนเรียกจัมปาว่า ฮวนหวั่ง (Huan-wang) ต่อมาในปี พ.ศ. 1317 จัมปาก็ถูกชะวารุกรานอย่างหนัก ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมของชะวาเข้ามามีอิทธิพลต่อจัมปาอย่างสำคัญ

 

ในราวปี พ.ศ. 1418 พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2  ของจัมปาได้ย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรขึ้นไปภาคเหนืออีก โดยทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ชื่อ อินทรปุระ ในแคว้นอมราวดีเดิม และตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ ในช่วงเวลานั้นจีนเรียกจัมปาว่า จางเจิ้ง (Chang-cheng) ตรงกับสันสกฤตว่า จัมปาปุระ และกษัตริย์จัมปาในช่วงนั้นเลื่อมใสในพุทธศาสนาแบบมหายานและมีสัมพันธ์ไมตรีกับชะวาเป็นอย่างดี ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมแบบชะวามีอิทธิพลต่อศิลปะของจัมปาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ในปี พ.ศ. 1482 พวกอานัม (เวียดนาม) ได้ตั้งอาณาจักร ไดโคเวียด (อานัมและตังเกี๋ย) ในภายหลังราชวงศ์ถังในประเทศจีนสิ้นอำนาจลง พวกอานัมได้แผ่ขยายดินแดนและรบพุ่งกับอาณาจักรจัมปา ทำให้อาณาจักรจัมปามีดินแดนหดสั้นลง ในพ.ศ. 1488 พระเจ้าเชนทรวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรเขมรก็ยกทัพมาโจมตีจัมปา ทำให้อาณาจักรจัมปาเริ่มเสื่อมลงเนื่องจากมีสงครามรบพุ่งกับเขมรและอานัมอยู่ตลอดเวลา

 

ในปีพ.ศ. 1522 พวกอานัมได้โจมตีและทำลายเมืองอินทรปุระพร้อมทั้งสังหารกษัตริย์จามลง ทำให้พวกจามต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองวิชัย (บินห์ดินห์) อย่างไรก็ตามมีช่วงเวลาสั้นๆ ที่อาณาจักรจัมปากลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้าเชบองงา ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1903 นักประวัติศาสตร์ถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจัมปา

 

พระเจ้าเชบองงาเป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าเป็นพิเศษในการสงคราม ได้ตีเมืองต่างๆ ของจัมปากลับคืนมาทั้งหมด และรุกเข้าไปในดินแดนของพวกอานัม จนเข้าโจมตีถึงเมืองฮานอย พระเจ้าเชบองงาสวรรคตในการยุทธ์ทางทะเลใน พ.ศ. 1933 และอาณาจักรจัมปาก็ต้องสูญเสียเอกราชแก่พวกอานัม (เวียดนาม) เป็นครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2365 หลังจากได้รบพุ่งกันมาเป็นเวลาถึง 900 ปี (พระธรรมปิฎก ; อ้างแล้ว หน้า 221-224 โดยสรุป, หม่อมเจ้าสุภัรดิศ ดิศกุล ; อ้างแล้ว หน้า 197)